วันจันทร์ที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2556


ความเป็นครู

           

           การเป็นครูไม่ใช่แค่รู้ว่าวันครูคือวันที่ ๑๖ มกราคม

                         แต่ความเป็นครูนั้นเปรียบได้กับดอกกล้วยไม้ ต้องใช้เวลานาน ต้องดูแลเอาใจใส่เราจึงจะเห็นดอกกล้วยไม้
            การผลิตบุคคลในวิชาชีพครูยิ่งต้องสร้างให้งดงามมาก ให้เขาเข้าใจความเป็นครูและความเป็นครูนั้น ไม่เพียงแต่จะต้องมีความรู้ทางวิชาการเพื่อจะสอนนักเรียนเท่านั้น แต่ครูยังจะต้องเป็นผู้ช่วยนักเรียนให้พัฒนาทางด้านสติปัญญาบุคลิกภาพ อารมณ์ และสังคมด้วย
           ครูต้องเป็นผู้ให้ความอบอุ่นแก่นักเรียน เพื่อนักเรียนจะได้มีความเชื่อและไว้ใจครู พร้อมที่จะพบครูเวลาที่มีปัญหา
           นอกจากนี้ครูจะต้องเป็นต้นฉบับที่ดีแก่นักเรียน
           ถ้าหากจะถามนักเรียนตั่งแต่ชั้นประถม จนถึงนิสิตนักศึกษาขั้นมหาวิทยาลัย ว่ามีใครบ้างในชีวิตของนักเรียนที่นักเรียนยึดถือเป็นต้นฉบับ นักเรียนส่วนมากจะมีครูอยู่อย่างน้อยหนึ่งคนเป็นต้นฉบับหรือตัวแบบและนักเรียนจะยอมรับค่านิยมและอุดมการณ์ของครู เพื่อเป็นหลักของชีวิต อิทธิพลของครูที่นักเรียนยึดเป็นต้นฉบับจะติดตามไปตลอดชีวิต

            มีผู้กล่าวว่า ครูเปรียบเสมือนนักศิลปินที่ปั้นรูป เพราะครูทุกคนมีส่วนในการพัฒนาบุคลิกภาพของนักเรียน
            แต่ผลงานของครูไม่เหมือนกับประติมากรที่พองานแต่ละชิ้นสำเร็จก็เห็นผลงาน  อาจจะตั้งให้ชมได้ หรือถ้าไม่ชอบอาจจะแก้ไขเพิ่มเติมได้
            ส่วนครูนั้นจะต้องรอจนนักเรียนกลับมาบอกครูว่าครูได้ช่วยเขาอย่างไร หรือมีอิทธิพลต่อชีวิตเขาอย่างไร
            และบางครั้งการรอก็เป็นการเสียเวลาเปล่าเพราะแม้ว่านักเรียนบางคนจะคิดถึงความดีของครูแต่ก็คิดอยู่ในใจไม่แสดงออก
            จึงทำให้คนทั่วไปรู้สึกว่าอาชีพครูเหมือนเรือจ้างมีหน้าที่ส่งคนข้ามฟากเท่านั้น ซึ่งเป็นเครื่องชี้ถึงทัศนคติทางลบที่มีต่ออาชีพครูมีส่วนทำให้บางคนตัดสินใจเลือกอาชีพครูเป็นอาชีพสุดท้าย
            นิสิตและนักศึกษาที่เลือกการเรียนวิชาที่จะเป็นครู เมื่อเรียนจบแล้วอาจจะไม่ได้เป็นครูถ้ามีอาชีพอื่นให้เลือก
            ดังนั้นอาชีพครูจึงประกอบด้วยคน 2 ประเภท
                            คือผู้ที่รักอาชีพครู และต้องการเป็นครูจริงๆ
                            และผู้ที่ต้องเป็นครูด้วยความจำใจ   ครูประเภทนี้บางคนได้พบว่าอาชีพครูเป็นอาชีพที่มีรางวัลในใจที่ได้ช่วยเหลือนักเรียนให้เรียนรู้หรือเปลี่ยนพฤติกรรม ช่วยให้นักเรียนมีพัฒนาการทั้งด้านสติปัญญาและบุคลิกภาพ จึงทำให้รู้สึกว่าเลือกอาชีพที่ถูกแล้ว
                           แต่ครูบางคนมีความรู้สึกว่าตนเลือกอาชีพผิดและต้องทนอยู่เพราะอยากมีงานทำและอยากมีเงินใช้แต่ไม่มีความสุข  ครูประเภทนี้มีอันตรายเปรียบเสมือนฆาตกรนักเรียนทางดานจิตใจอย่างเลือดเย็น ทำให้นักเรียนมีความรู้สึกต่ำต้อยและคิดว่าชีวิตของตนไม่มีค่า เป็นบุคคลที่ไม่มีประโยชน์ ไม่มีความสามารถและอาจจะต้องออกจากโรงเรียนด้วยการเรียนไม่สำเร็จ มีชีวิตที่ประสบความผิดหวัง ไม่สามารถที่จะมีชีวิตที่ก้าวหน้า
           เมื่อสถานการณ์ของครูเป็นเช่นนี้แล้ว ครูจึงต้องหันมาดูตัวครูเป็นหลักก่อน
           ดังคำกล่าวที่ว่า “การเป็น    ตัวอย่างที่ดี คือการสอนที่ดี”
           เพราะศิษย์จะตามแบบอย่างครู
           ครูจึงต้องพัฒนาตนเองเริ่มตั้งแต่ใจรักเด็ก    รักศิษย์ รักที่จะสั่งสอนหรือถ่ายทอดความรู้ให้กับคนอื่น มีความตั้งใจ.......
           เรื่องความรู้สึกหรือเจตคติต่อความเป็นครูจึงเป็นเรื่องสำคัญ  คือ เริ่มต้นที่จิตใจรักที่จะเป็นครู นั่นเอง

           เมื่อใจรักที่จะเป็นครู เพื่อประกอบอาชีพเป็นครู จึงต้องแสวงหาว่าการเป็นครูที่ดีเป็นอย่างไร เพื่อจะได้เป็นกรอบหรือแนวทางในการปฏิบัติตน
>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>

วัฒนธรรมและประเพณีไทย

                     การที่มนุษย์มาอยู่รวมกันเป็นกลุ่มเป็นสังคมขึ้นมาย่อมต้องมีความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกของกลุ่มมีระเบียบแบบแผนที่ควบคุมพฤติกรรมของบุคคลในกลุ่มให้อยู่ในขอบเขตที่จะอยู่ร่วมกันอย่างมีความสงบสุข สิ่งที่เป็นเครื่องมือในการควบคุมพฤติกรรมของกลุ่มคนนี้เราเรียกว่า "วัฒนธรรม" ดังนั้น วัฒนธรรมจึงเปรียบเสมือนอาภรณ์ห่อหุ้มร่างกายตกแต่งคนให้น่าดูชม วัฒนธรรมเป็นสิ่งที่ต้องควบคู่กับคนเสมอไป
"วัฒนธรรมมีความหมายครอบคลุมทุกสิ่งทุกอย่าง ที่แสดงออกถึงวิถีชีวิตของมนุษย์ในสังคมกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือสังคมใดสังคมหนึ่ง มนุษย์ได้คิดสร้างระเบียบกฎเกณฑ์ใช้ในการปฏิบัติ การจัดระเบียบตลอดจนระบบความเชื่อ ค่านิยม ความรู้ และเทคโนโลยีต่าง ๆ ในการควบคุมและใช้ประโยชน์จากธรรมชาติ"
 "วัฒนธรรมคือความเจริญก้าวหน้าของมนุษย์ หรือลักษณะประจำชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่อยู่ในสังคม ซึ่งไม่เพียงแต่จะหมายถึงความสำเร็จในด้านศิลปกรรมหรือมารยาททางสังคมเท่านั้น  กล่าวคือ ชนทุกกลุ่มต้องมีวัฒนธรรม ดังนั้น เมื่อมีความแตกต่างระหว่างชนแต่ละกลุ่ม ก็ย่อมมีความแตกต่างทางวัฒนธรรมนั่นเอง เช่น ชาวนาจีน กับชาวนาในสหรัฐอเมริกา ย่อมมีความแตกต่างกัน
 "วัฒนธรรมคือสิ่งที่มนุษย์เปลี่ยนแปลงหรือปรับปรุงหรือผลิตสร้างขึ้น เพื่อความเจริญงอกงามในวิถีชีวิตและส่วนรวม วัฒนธรรมคือวิถีแห่งชีวิตของมนุษย์ในส่วนร่วมที่ถ่ายทอดกันได้ เรียนกันได้ เอาอย่างกันได้ วัฒนธรรมจึงเป็นผลผลิตของส่วนร่วมที่มนุษย์ได้เรียนรู้มาจากคนสมัยก่อน สืบต่อกันมาเป็นประเพณี วัฒนธรรมจึงเป็นทั้งความคิดเห็นหรือการกระทำของมนุษย์ในส่วนร่วมที่เป็นลักษณะเดียวกัน และสำแดงให้ปรากฏเป็นภาษา ความเชื่อ ระเบียบประเพณี
 พระราชบัญญัติ วัฒนธรรมแห่งชาติพุทธศักราช 2485 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พุทธศักราช 2486 ได้ให้ความหมายของวัฒนธรรมไว้ดังนี้
 วัฒนธรรม คือ ลักษณะที่แสดงถึงความเจริญงอกงาม ความเป็นระเบียบเรียบร้อย ความกลมเกลียวก้าวหน้าของชาติ และศีลธรรมอันดีของประชาชน
 วัฒนธรรมจึงเป็นลักษณะพฤติกรรมต่างๆ ของมนุษย์ซึ่งเป็นวิถีชีวิตของมนุษย์ ทั้งบุคคลและสังคมที่ได้วิวัฒนาการต่อเนื่องมาอย่างมีแบบแผน แต่อย่างไรก็ดีมนุษย์นั้นไม่ได้เกาะกลุ่มอยู่เฉพาะในสังคมของตนเอง ได้มีความสัมพันธ์ติดต่อกับสังคมต่างๆ ซึ่งอาจอยู่ใกล้ชิดมีพรมแดนติดต่อกัน หรือยู่ปะปนในสถานที่เดียวกันหรือ การที่ชนชาติหนึ่งตกอยู่ใต้การปกครองของชนชาติหนึ่ง มนุษย์เป็นผู้รู้จักเปลี่ยนแปลงปรับปรุงสิ่งต่าง ๆ จึงนำเอาวัฒนธรรมที่เห็นจากได้สัมพันธ์ติดต่อมาใช้โดยอาจรับมาเพิ่มเติมเป็นวัฒนธรรมของตนเองโดยตรงหรือนำเอามาดัดแปลงแก้ไขให้สอดคล้องเหมาะสมกับสภาพวัฒนธรรมที่มีอยู่เดิม
ในปัจจุบันนี้จึงไม่มีประเทศชาติใดที่มีวัฒนธรรมบริสุทธิ์อย่างแท้จริง แต่จะมีวัฒนธรรมที่มีพื้นฐานมาจากความรู้ ประสบการณ์ที่สังคมตกทอดมาโดยเฉพาะของสังคมนั้น และจากวัฒนธรรมแหล่งอื่นที่เข้ามาผสมปะปนอยู่ และวัฒนธรรมไทยก็มีแนวทางเช่นนี้
ความสำคัญของวัฒนธรรม
         วัฒนธรรมเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่งในความเป็นชาติ ชาติใดที่ไร้เสียซึ่งวัฒนธรรมอันเป็นของตนเองแล้ว ชาตินั้นจะคงความเป็นชาติอยู่ไม่ได้ ชาติที่ไร้วัฒนธรรม แม้จะเป็นผู้พิชิตในการสงคราม แต่ในที่สุดก็จะเป็นผู้ถูกพิชิตในด้านวัฒนธรรม ซึ่งนับว่าเป็นการถูกพิชิตอย่างราบคาบและสิ้นเชิง ทั้งนี้เพราะผู้ที่ถูกพิชิตในทางวัฒนธรรมนั้นจะไม่รู้ตัวเลยว่าตนได้ถูกพิชิต เช่น พวกตาดที่พิชิตจีนได้ และตั้งราชวงศ์หงวนขึ้นปกครองจีน แต่ในที่สุดถูกชาวจีนซึ่งมีวัฒนธรรมสูงกว่ากลืนจนเป็นชาวจีนไปหมดสิ้น ดังนั้นจึงพอสรุปได้ว่า วัฒนธรรมมีความสำคัญดังนี้
  • วัฒนธรรมเป็นสิ่งที่ชี้แสดงให้เห็นความแตกต่างของบุคคล กลุ่มคน หรือชุมชน
  • เป็นสิ่งที่ทำให้เห็นว่าตนมีความแตกต่างจากสัตว์
  • ช่วยให้เราเข้าใจสิ่งต่าง ๆ ที่เรามองเห็น การแปลความหมายของสิ่งที่เรามองเห็นนั้นขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมของกลุ่มชน ซึ่งเกิดจากการเรียนรู้และถ่ายทอดวัฒนธรรม เช่น ชาวเกาะซามัวมองเห็นดวงจันทร์ว่ามีหญิงกำลังทอผ้า ชาวออสเตรเลียเห็นเป็นตาแมวใหญ่กำลังมองหาเหยื่อ ชาวไทยมองเห็นเหมือนรูปกระต่าย
  • วัฒนธรรมเป็นตัวกำหนดปัจจัย 4 เช่น เครื่องนุ่งห่ม อาหาร ที่อยู่อาศัย การรักษาโรค
  • วัฒนธรรมเป็นตัวกำหนดการแสดงความรู้สึกทางอารมณ์ และการควบคุมอารมณ์ เช่น ผู้ชายไทยจะไม่ปล่อยให้น้ำตาไหลต่อหน้าสาธารณะชนเมื่อเสียใจ
  • เป็นตัวกำหนดการกระทำบางอย่าง ในชุมชนว่าเหมาะสมหรือไม่ ซึ่งการกระทำบางอย่างในสังคมหนึ่งเป็นที่ยอมรับว่าเหมาะสมแต่ไม่เป็นที่ยอมรับในอีกสังคมหนึ่ง
จะเห็นได้ว่าผู้สร้างวัฒนธรรมคือมนุษย์ และสังคมเกิดขึ้นก็เพราะ มนุษย์ วัฒนธรรมกับสังคมจึงเป็นสิ่งคู่กัน โดยแต่ละสังคมย่อมมีวัฒนธรรมและหากสังคมมีขนาดใหญ่หรือมีความซับซ้อน มากเพียงใด ความหลากหลายทางวัฒนธรรมมักจะมีมากขึ้นเพียงใดนั้นวัฒนธรรมต่าง ๆ ของแต่ละสังคมอาจเหมือนหรือต่างกันสืบเนื่องมาจากความแตกต่างทางด้านความเชื่อ เชื้อชาติ ศาสนาและถิ่นที่อยู่ เป็นต้น
  ลักษณะของวัฒนธรรม
เพื่อที่จะให้เข้าใจถึงความหมายของคำว่า "วัฒนธรรม" ได้อย่างลึกซึ้ง จึงขออธิบายถึงลักษณะของวัฒนธรรม ซึ่งอาจแยกอธิบายได้ดังต่อไปนี้
  • วัฒนธรรมเป็นพฤติกรรมที่เกิดจากการเรียนรู้ มนุษย์แตกต่างจากสัตว์ ตรงที่มีการรู้จักคิด มีการเรียนรู้ จัดระเบียบชีวิตให้เจริญ อยู่ดีกินดี มีความสุขสะดวกสบาย รู้จักแก้ไขปัญหา ซึ่งแตกต่างไปจากสัตว์ที่เกิดการเรียนรู้โดยอาศัยความจำเท่านั้น
  • วัฒนธรรมเป็นมรดกของสังคม   เนื่องจากมีการถ่ายทอดการเรียนรู้ จากคนรุ่นหนึ่งไปสู่คนรุ่นหนึ่ง ทั้งโดยทางตรงและโดยทางอ้อม โดยไม่ขาดช่วงระยะเวลา และ มนุษย์ใช้ภาษาในการถ่ายทอดวัฒนธรรม ภาษาจึงเป็นสัญลักษณ์ที่ใช้ถ่ายทอดวัฒนธรรมนั่นเอง
  • วัฒนธรรมเป็นวิถีชีวิต  หรือเป็นแบแผนของการดำเนินชีวิตของ มนุษย์   มนุษย์เกิดในสังคมใดก็จะเรียนรู้และซึมซับในวัฒนธรรมของสังคมที่ตนเองอาศัยอยู่ ดังนั้น วัฒนธรรมในแต่ละสังคมจึงแตกต่างกัน
  • วัฒนธรรมเป็นสิ่งที่ไม่คงที่ มนุษย์มีการคิดค้นประดิษฐ์สิ่งใหม่ ๆ และ ปรับปรุงของเดิมให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อความเหมาะสม และความอยู่ รอดของสังคม เช่น สังคมไทยสมัยก่อนผู้หญิงจะทำงานบ้าน ผู้ชายทำงานนอกบ้าน เพื่อหาเลี้ยง ครอบครัว  แต่ปัจจุบันสภาพสังคมเปลี่ยนแปลงไป ทำให้ผู้หญิงต้องออกไปทำงานนอกบ้าน เพื่อหา รายได้มาจุนเจือครอบครัว บทบาทของผู้หญิงในสังคมไทยจึงเปลี่ยนแปลงไป
หน้าที่ของวัฒนธรรม
  • วัฒนธรรมเป็นตัวกำหนดรูปแบบของสถาบัน ซึ่งมีลักษณะแตกต่าง กันไปในแต่ละสังคม เช่น วัฒนธรรมอิสลามอนุญาตให้ชาย (ที่มีความสามารถเลี้ยงดูและ ให้ความ ยุติธรรมแก่ภรรยา) มีภรรยาได้มากกว่า 1 คน โดยไม่เกิด 4 คน แต่ห้ามสมสู่ ระหว่าง เพศเดียว กัน อย่างเด็ดขาด ในขณะที่ศาสนาอื่นอนุญาตให้ชายมีภรรยาได้เพียง 1 คน แต่ไม่มีบัญญัติห้าม ความสัมพันธ์ระหว่างเพศเดียวกัน ฉะนั้นรูปแบบของสถาบันครอบครัวจึงอาจแตกต่างกันไป
  • วัฒนธรรมเป็นสิ่งที่กำหนดพฤติกรรมของมนุษย์  พฤติกรรมของคน จะเป็นเช่นไรก็ขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมของกลุ่มสังคมนั้น ๆ เช่น วัฒนธรรมในการพบปะทักทายของ ไทย ใช้ในการสวัสดีของชาวตะวันตกทั่วไปใช้ในการสัมผัสมือ ของชาวทิเบตใช้การแลบลิ้น ของชาว มุสลิมใช้การกล่าวสลาม เป็นต้น
  • วัฒนธรรมเป็นสิ่งที่ควบคุมสังคม สร้างความเป็นระเบียบ เรียบร้อย ให้แก่สังคม เพราะในวัฒนธรรมจะมีทั้งความศรัทธา  ความเชื่อ ค่านิยม บรรทัดฐาน เป็นต้น ตลอดจน ผลตอบแทนในการปฏิบัติและบทลงโทษเมื่อฝ่าฝืน
             ฉะนั้นจึงกล่าวได้ว่า ถ้าหากเข้าใจในเรื่องวัฒนธรรมดีแล้ว จะทำให้ สามารถเข้าใจพฤติกรรมต่าง ๆ ของคนในแต่ละสังคมได้อย่างถูกต้อง
ที่มาของวัฒนธรรมไทย
วัฒนธรรมไทยมีที่มาจากปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้
  • สิ่งแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ เนื่องจากสังคมไทยมีลักษณะทางด้านภูมิศาสตร์เป็นที่ราบลุ่มและอุดมสมบูรณ์ด้วยแม่น้ำลำคลอง คนไทยได้ใช้น้ำในแม่น้ำ ลำคลอง ในการเกษตรกรรมและการอาบ กิน เพราะฉะนั้นเมื่อถึงเวลาหน้าน้ำ คือ เพ็ญเดือน 11 และเพ็ญ เดือน 12 ซึ่งอยู่ในห้วงเวลาปลายเดือนตุลาคมและปลายเดือนพฤศจิกายน อันเป็นระยะเวลา ที่ น้ำไหลหลากมาจากทางภาคเหนือของประเทศ คนไทยจึงจัดทำกระทงพร้อม ด้วยธูปเทียนไปลอย ในแม่น้ำลำคลอง เพื่อเป็นการขอขมาลาโทษแม่คงคา และขอพรจากแม่คงคา เพราะได้อาศัยน้ำกิน น้ำใช้ ทำให้เกิด "ประเพณีลอยกระทง"   นอกจากนั้นยังมีประเพณีอื่น ๆ  อีกในส่วนที่เกี่ยวกับ แม่น้ำลำคลอง  เช่น     "ประเพณีแข่งเรือ"
  • ระบบการเกษตรกรรม สังคมไทยเป็นสังคมเกษตรกรรม (agrarian society) กล่าวคือ ประชากรร้อยละ 80 ประกอบอาชีพเกษตรกรรม หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า คนไทยส่วนใหญ่มีวิถีชีวิตผูกพันกับระบบการเกษตรกรรม และระบบการเกษตรกรรมนี้เอง ได้เป็น ที่มาของวัฒนธรรมไทยหลายประการ เช่น ประเพณีขอฝน ประเพณีลงแขก และการละเล่น เต้นกำรำเคียว เป็นต้น
  • ค่านิยม (Values) กล่าวได้ว่า "ค่านิยม" มีความเกี่ยวพันกับ วัฒนธรรมอย่างใกล้ชิด และ "ค่านิยม" บางอย่างได้กลายมาเป็น "แกน" ของวัฒนธรรมไทยกล่าวคือ วิถีชีวิตของคนไทยโดยส่วนรวมมีเอกลักษณ์ซึ่งแสดงออกถึงอิสรภาพและเสรีภาพ
  • การเผยแพร่ทางวัฒนธรรม (Cultural diffusion) วัฒนธรรมทาง หนึ่ง ย่อม แตกต่างไปจากวัฒนธรรมทางสังคมอื่น ๆ ทั้งนี้เพราะวัฒนธรรมมิได้เกิดขึ้นมาใน ภาชนะ ที่ถูกผนึกตราบเท่าที่มนุษย์ เช่น นักท่องเที่ยว พ่อค้า ทหาร หมอสอนศาสนา และผู้อพยพยังคง ย้ายถิ่นที่อยู่จากแห่งหนึ่งไปยังแห่งอื่น ๆ เขาเหล่านั้นมักนำวัฒนธรรมของพวกเขาติดตัว ไปด้วย เสมอ ซึ่งถือได้ว่า เป็นการเผยแพร่ทางวัฒนธรรม เป็นไปได้อย่างสะดวกรวดเร็วและกว้างขวาง ประจักษ์ พยานในเรื่องนี้จะเห็นได้ว่าน้ำอัดลมชื่อต่าง ๆ มีอยู่ทั่วทุกมุมโลก วัฒนธรรมของสังคมอื่น ซึ่งได้เผยแพร่เข้ามาในสังคมไทยก็คือ
    >>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>                                                            วันสําคัญทางพระพุทธศาสนา        
                                                                                                                                                                               จากที่เกิดวันเข้าพรรษา เนื่องจากพระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้พระภิกษุสงฆ์อยู่จำพรรษา เหตุเพราะสมัยก่อนฝนตกชุก การเดินทางสัญจรไปมาก็ไม่สะดวก อีกทั้งไปเหยียบต้นข้าวของชาวบ้าน ในสมัยที่พระพุทธองค์ได้ตรัสรู้แล้ว และได้ให้พระภิกษุสงฆ์ออกไปตามเขตต่าง ๆ เพื่อประกาศพระศาสนา จนมีผู้ขออุปสมบทมากขึ้น จึงทำให้มีพระภิกษุสงฆ์ออกไปเผยแพร่พระศาสนากันมากขึ้น แม้ในฤดูฝนก็มิได้หยุดพัก การเดินทางก็ไม่สะดวก ทั้งยังเหยียบข้าวกล้าให้เกิดความเสียหาย ทำให้สัตว์เล็กน้อยตาย ประชาชนจึงพากันติเตียนว่า "ไฉนเล่า พระสมณศากยบุตรจึงเที่ยวไปมาอยู่ทุกฤดูกาล เหยียบข้าวกล้าและติณชาติให้ได้รับความเสียหาย ทำให้สัตว์เล็กน้อยตาย พวกเดียรถีย์และปริพพาชกเสียอีกยังพากันหยุดพักในฤดูฝน ถึงนกยังรู้จักทำรังที่กำบังฝนของตน" 
    พระพุทธองค์ได้ทรงสดับคำนั้นแล้ว จึงทรงบัญญัติเป็นธรรมเนียมให้พระสงฆ์อยู่จำพรรษาตลอด ๓ เดือนในฤดูฝน ตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ไปจนถึงกลางเดือน ๑๑ ห้ามมิให้เที่ยวสัญจรไปมา
    วันเข้าพรรษาที่พระพุทธองค์ทรงอนุญาตไว้มีอยู่ ๒ วัน คือ
    ๑.ปุริมิกาวัสสูปนายิกา คือ วันเข้าพรรษาแรก ตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ไปจนถึงวันเพ็ญ กลางเดือน ๑๑
    ๒.ปัจฉิมมิกาวัสสูปนายิกา คือ วันเข้าพรรษาหลัง ตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๙ ไปจนถึงวันเพ็ญกลางเดือน ๑๒
    ภิกษุเข้าพรรษาแล้ว หากมีกิจธุระจำเป็นอันชอบด้วยพระวินัย พระพุทธองค์ก็ทรงอนุญาตให้ไปได้ แต่จะต้องกลับมา ยังสถานที่เดิมภายใน ๗ วัน พรรษาไม่ขาด ที่เรียกว่า "สัตตาหกรณียะ" เหตุที่ทรงอนุญาตให้ไปได้ด้วยสัตตาหกรณียะนั้นมี ๔ อย่างดังต่อไปนี้
    ๑. สหธรรมิกหรือมารดาบิดาเจ็บไข้ รู้เข้าไปเพื่อรักษาพยาบาล
    ๒. สหธรรมิกกระสันจะสึก รู้เข้าไปเพื่อห้ามปราม
    ๓. มีกิจสงฆ์เกิดขึ้น เช่น วิหารชำรุดลงในเวลานั้น ไปเพื่อหาเครื่องทัพพสัมภาะมาปฏิสังขรณ์
    ๔. ทายกต้องการบำเพ็ญบุญกุศลส่งคนมานิมนต์ ไปเพื่อบำรุงศรัทธาของเขาได้
    แม้ธุระอื่นนอกจากนี้ที่เป็นกิจจลักษณะอนุโลมเข้าในข้อนี้ด้วย
    ในเวลาจำพรรษาเมื่อมีอันตรายเกิดขึ้นจะอยู่ต่อไปไม่ได้ และไปเสียจากที่นั้น พรรษาขาด
    แต่ท่านไม่ปรับอาบัติ (ไม่เป็นอาบัติ) มีดังนี้ คือ
    ๑. ถูกสัตว์ร้าย โจร หรือปีศาจเบียดเบียน
    ๒. เสนาสนะถูกไฟไหม้ หรือน้ำท่วม
    ๓. ภัยเช่นนั้นเกิดขึ้นแก่โคจรคาม ลำบากด้วยบิณฑบาต ในข้อนี้ชาวบ้านอพยพจะตามเขาไปก็ควร
    ๔. ขัดสนด้วยอาหาร โดยปกติไม่ได้อาหารหรือเภสัชอันสบาย ไม่ได้อุปัฏฐากอันสมควร (ข้อนี้หากพอทนได้ก็ควรอยู่ต่อไป)
    ๕ .มีหญิงมาเกลี้ยกล่อม หรือมีญาติมารบกวนล่อด้วยทรัพย์
    ๖. สงฆ์ในอาวาสอื่นจวนจะแตกกันหรือแตกกันแล้ว ไปเพื่อจะห้ามหรือเพื่อสมานสามัคคีได้อยู่ (ในข้อนี้ ถ้ากลับมาทัน ควรไปด้วยสัตตาหกรณียะ)
    พระพุทธองค์ทรงอนุญาตการอยู่จำพรรษาในสถานที่บางแห่ง แก่ภิกษุบางรูปผู้มีความประสงค์ จะอยู่จำพรรษาในสถานที่ต่าง ๆ กัน สถานที่เหล่านั้น คือ
    ๑. ในคอกสัตว์ (อยู่ในสถานที่ของคนเลี้ยงโค)
    ๒. เมื่อคอกสัตว์ย้ายไป ทรอนุญาตให้ย้ายตามไปได้
    ๓. ในหมู่เกวียน
    ๔. ในเรือ
    พระพุทธองค์ทรงห้ามมิให้อยู่จำพรรษาในสถานที่อันไม่สมควร สถานที่เหล่านั้นคือ
    ๑. ในโพรงไม้
    ๒. บนกิ่งหรือคาคบไม้
    ๓. ในที่กลางแจ้ง
    ๔. ในที่ไม่มีเสนาสนะ คือไม่มีที่นอนที่นั่ง
    ๕. ในโลงผี
    ๖. ในกลด
    ๗. ในตุ่ม
    ข้อห้ามที่พระพุทธองค์ทรงห้ามไว้อีกอย่างหนึ่ง คือ
    ๑. ห้ามมิให้ตั้งกติกาอันไม่สมควร เช่น การมิให้มีการบวชกันภายในพรรษา
    ๒. ห้ามรับปากว่าจะอยู่พรรษาในที่ใดแล้ว ไม่จำพรรษาในที่นั้น
    อนึ่ง วันเข้าพรรษานี้ ถือกันว่าเป็นกรณียพิเศษสำหรับภิกษุสงฆ์ เมื่อใกล้วันเข้าพรรษาควรปัดกวาด เสนาสนะสำหรับจะอยู่จำพรรษาให้ดี ในวันเข้าพรรษา พึงประชุมกันในโรงอุโบสถไหว้พระสวดมนต์ ขอขมาต่อกันและกัน หลังจากนั้นก็ประกอบพิธีอธิษฐานพรรษา ภิกษุควรอธิษฐานใจของตนเองคือตั้งใจเอาไว้ว่า ตลอดฤดูกาลเข้าพรรษานี้ ตนเองจะไม่ไปไหน ด้วยการเปล่งวาจาว่า
    "อิมสฺมึ อาวาเส อิมัง เตมาสํ วสฺสํ อุเปมิ แปลว่า ข้าพเจ้าจะอยู่จำพรรษาในอาวาสนี้ตลอด ๓ เดือน"
    หลังจากเสร็จพิธีเข้าพรรษาแล้ว ก็นำดอกไม้ธูปเทียนไปนมัสการบูชาปูชนียวัตถุที่สำคัญในวัดนั้น ในวันต่อมาก็นำดอกไม้ ธูปเทียนไปขอขมาพระอุปัชฌาย์อาจารย์และพระเถระผู้ที่ตนเองเคารพนับถือ
    อานิสงส์แห่งการจำพรรษา
    เมื่อพระภิกษุอยู่จำพรรษาครบ ๓ เดือนได้ปวารณาแล้ว ย่อมจะได้รับอานิสงส์แห่งการจำพรรษา ๕ อย่าง ตลอด ๑ เดือนนับแต่วันออกพรรษาเป็นต้นไป คือ
    ๑. เที่ยวจาริกไปโดยไม่ต้องบอกลา ตามสิกขาบทที่ ๖ แห่งอเจลกวรรค ปาจิตตีย์กัณฑ์
    ๒. เที่ยวจาริกไปโดยไม่ต้องถือไตรจีวรไปครบสำรับ
    ๓. ฉันคณะโภชน์และปรัมปรโภชน์ได้
    ๔. เก็บอติเรกจีวรได้ตามปรารถนา
    ๕. จีวรอันเกิดขึ้นในที่นั้นเป็นของพวกเธอ
    และยังได้โอกาสเพื่อที่จะกราลกฐิน และได้รับอานิสงส์พรรษาทั้ง ๕ ขึ้นนั้นเพิ่มออกไปอีก ๔ เดือน ในฤดูหนาว คือตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๒ ไปจนถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔ อีกด้วย
    ในวันเข้าพรรษานี้ตามประวัติ ชาวไทยเราได้ประกอบพิธีทางศาสนาเนื่องในวันเข้าพรรษา มาตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัย ซึ่งมีทั้ง พิธีหลวง และ พิธีราษฎร์ กิจกรรมที่กระทำก็มีการเตรียมเสนาสนะให้อยู่ในสภาพที่ดี สำหรับจะได้จำพรรษาอยู่ตลอด 3 เดือน จัดทำ เทียนจำนำพรรษา เพื่อใช้จุดบูชาพระบรมธาตุ พระพุทธปฏิมา พระปริยัติธรรม ตลอดทั้ง 3 เดือน ถวายธูป เทียน ชวาลา น้ำมันตามไส้ประทีปแก่พระภิกษุสงฆ์ที่อยู่จำพรรษาในพระอาราม
    สำหรับเทียนจำนำพรรษาจะมีการ แห่เทียน ไปยังพระอารามทั้งทางบกและทางน้ำตามแต่หนทางที่ไปจะอำนวยให้ เพื่อนำเทียนเข้าไปตั้งในพระอุโบสถหรือพระวิหาร แล้วก็จะจุดเทียนเพื่อบูชาพระรัตนตรัย
    สำหรับการปฏิบัติอื่น ๆ ก็จะมีการถวาย ผ้าอาบน้ำฝน การอธิษฐานตนว่าจะประพฤติปฏิบัติให้อยู่ในกรอบของศีลห้า ศีลแปด ฟังเทศน์ฟังธรรม ตามระยะเวลาที่กำหนดโดยเคร่งครัด ตามกำลังศรัทธา และขีดความสามารถของตน นับว่าวันเข้าพรรษาเป็นโอกาสอันดีที่พุทธศาสนิกชน จะได้ประพฤติปฏิบัติตนในกรอบของพระพุทธศาสนาได้เข้มข้นยิ่งขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง
    ๑. ทำบุญใส่บาตร
    ๒. ไปวัดเพื่อปฏิบัติธรรม และฟังพระธรรมเทศนา
    ๓. ไปเวียนเทียนที่วัด
    ๔. ประดับธงชาติตามอาคารบ้านเรือนและสถานที่ราชการ